ความคืบหน้าภายหลังจากที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอล "เอเอฟซี ยู-23 แชมเปี้ยนส์ชิพ 2020" รอบสุดท้าย ระหว่างวันที่ 8 ม.ค.63 - 26 ม.ค.63 โดยมี 16 ทีมร่วมชิงชัยเพื่อชิงโควตา 3 ที่นั่งเป็นตัวแทนทวีปไปลุยศึกฟุตบอลชายในมหกรรมกีฬา "โอลิมปิก 2020" ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 24 ก.ค.63 - 9 ส.ค.63
ล่าสุด ทางสมาคมฟุตบอลฯ ได้ออกมาเปิดเผยถึงเรื่องสนามที่จะใช้ในการแข่งขันแล้วว่า "จริงๆแล้วก่อนหน้านี้สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ตั้งใจให้จัดภายในบริเวณกรุงเทพ และปริมณฑล เพื่อสะดวกในการประสานงาน แต่จากการเมื่อหารือกับ กกท. แล้ว ทางกกท. คิดว่าน่าจะกระจายไปสนามต่างจังหวัด ที่อยู่ในพื้นที่ดูแลของกกท. นอกจากกระตุ้นให้แฟนบอลมีส่วนร่วมแล้ว ก็ยังเป็นโอกาสให้มีการปรับปรุง ซ่อมแซม สนามนั้นๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทันสมัย เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ต่อไปในอนาคตด้วย"
"แล้วจากการประชุมคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (บอร์ด กกท. ) ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเห็นชอบเพิ่มอีก 1 สนามนั่นคือ สนามกีฬาติณสูลานนท์ จังหวัดสงขลา ต่อจาก ราชมังคลากีฬาสถาน , สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี และสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ จ.นครราชสีมา"
"โดยในส่วนของงบประมาณปรับปรุงซ่อมแซมนั้น ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นฝ่ายจัดสรรค์มาส่วนหนึ่ง ทำให้ตอนนี้เราได้ครบแล้ว 4 สนาม ที่จะจัดฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย ยู-23 ปี รอบสุดท้าย ก่อนที่ในเดือนเมษายนนี้ "เอเอฟซี" จะเดินทางมาประชุมและตรวจสนามเพื่อเป็นการตัดสินใจขั้นสุดท้ายร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง"
สำหรับ 3 สนามที่สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ประกาศใช้เป็นสังเวียนแข้งเอเชี่ยนคัพ ยู-23 รอบสุดท้ายก่อนหน้านี้คือ สนามราชมังคลากีฬาสถาน มีความจุ 49,722 ที่นั่ง , สนามสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี มีความจุ 25,000 ที่นั่ง และสนามเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ จ.นครราชสีมา มีความจุ 25,000 ที่นั่ง
ขณะที่สนามกีฬาติณสูลานนท์ จังหวัดสงขลา ที่เพิ่งประกาศเตรียมใช้เป็นสนามที่ 4 นั้น มีความจุ 45,000 ที่นั่ง เป็นสนามที่มีความจุมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย รองจากสนามราชมังคลากีฬาสถาน เท่านั้น และเคยผ่านการจัดการแข่งขันฟุตบอล เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี 2541 เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2541 นัดชิงอันดับที่ 3 เกมที่ ทีมชาติไทย แพ้ ทีมชาติจีน 0-3 ในรอบชิงเหรียญทองแดง