ความเคลื่อนไหวของศึกฟุตบอล "AFC U-23 Championship 2020" หรือ ชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ที่ประเทศไทยรับหน้าเสื่อเป็นภาพ โดยจัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ.2563 เพื่อคัดเลือก 3 ชาติ ผ่านเข้าไปเล่นในมหกรรมโอลิมปิก ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ต่อไป
ล่าสุด เมื่อวันพุธที่ 20 ก.พ.62 สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ "เอเอฟซี" ได้นำเจ้าหน้าที่เดินทางมาตรวจสอบสภาพสนาม ราชมังคลากีฬาสถาน เพื่อปรับปรุงและแก้ไขตามกฎ ระเบียบ เรื่องการใช้สถานที่สำหรับจัดการแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติ
โดยการตรวจสนามครั้งนี้นำโดย ยู จิน โฮ ฝ่ายจัดการแข่งขัน (ทีมชาติ), เชลตัน กูลการนิ ฝ่ายสื่อและประชาสัมพันธ์, เชง ยิง ได ฝ่ายจัดการแข่งขัน (ทีมชาติ), คูมาราซัน ชันดราน ฝ่ายการตลาดและพาณิชย์, โมฮาหมัด ราซากีดิน บิน ราซาลลี ฝ่ายบริการทั่วไป, ฟาดฮิล อัซรี บิน อิสมาอิล ฝ่ายออกแบบสนาม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สมาคมฯ ฝ่ายจัดการแข่งขันและฝ่ายต่างประเทศ
ทาง สมาคมฟุตบอลฯ ได้ออกมาเปิดเผยว่า "ทางเอเอฟซี ได้ส่งเจ้าหน้าทีมาตรวจความพร้อมของสนามทั้งหมด 6 สนาม ประกอบไปด้วย สนามราชมังคลากีฬาสถาน , สนามกีฬา สมโภช 700 ปี จังหวัดเชียงใหม่ , สนามบางกอกกลาส , สนามเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดนครราชสีมา , สนามเอสซีจี สเตเดี้ยม และ สนามม.ธรรมศาสตร์ รังสิต"
"เจ้าหน้าที่เอเอฟซี จะตรวจสอบทั้งหมด 6 สนาม ว่ามีสนามใดผ่านข้อกำหนด ไม่ผ่านข้อกำหนดอย่างไร ซึ่งตรงกับนโยบายของการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ต้องการจะปรับปรุงสนามภายใต้การดูแลของการกีฬาแห่งประเทศไทยฯ จำนวน 3 สนามคือราชมังคลากีฬาสถาน , สนามที่เชียงใหม่ และนครราชสีมา"
ทั้งนี้ หากประเทศไทยขาดคุณสมบัติ และกฎเกณฑ์ตามข้อกำหนดของเอเอฟซี ยังมีประเทศที่รอประเทศไทยพลาดโอกาสถึง 4 ประเทศ ที่พร้อมจะเข้ามาเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันแทนทันที
สำหรับสนามที่ทางสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้เสนอชื่อมีทั้งหมด 6 สนามแข่งขันก่อนจะคัดเลือกให้เหลือ 4 สนามประกอบไปด้วย 1. สนามราชมังคลากีฬาสถาน (กรุงเทพฯ) ความจุ 48,000 ที่นั่ง , 2. สนามกีฬา สมโภช 700 ปี (เชียงใหม่) ความจุ 25,000 ที่นั่ง , 3. สนามเอสซีจี สเตเดียม (นนทบุรี) ความจุ 15,000 ที่นั่ง , 4. สนามเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา และสนามซ้อมด้านข้าง (นครราชสีมา) ความจุ 25,000 ที่นั่ง , 5. สนามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ปทุมธานี) ความจุ 22,000 ที่นั่ง และ 6. สนามลีโอ สเตเดียม (ปทุมธานี) ความจุ 13,000 ที่นั่ง