ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน คิงส์ คัพ ครั้งที่ 46
ทีมชาติสโลวาเกีย 3 - 2 ทีมชาติไทย
วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม 2561
สโลวาเกีย ทีมอันดับ 29 ของโลก เหนือกว่าไทยถึง 100 ขั้น (ไทย 129) เปิดฉากได้ลุ้นตั้งแต่ น.4 จากลูกเปิดด้านซ้าย อดัม เนเม็ช เทกตัวโหม่งลอยข้ามคานไป
ต้นเกม ไทยเล่นอย่างรัดกุม และพยายามสร้างจังหวะลุ้นประตู น.9 ธีรศิลป์ ฉีกออกทางขวา ก่อนหยอดเข้ากรอบเขตโทษ กองหลังสโลวักเคลียร์ทิ้ง
จนกระทั่ง น.9 ทีมชาติสโลวาเกียพังประตูขึ้นนำ 1-0 ได้สำเร็จ จากจังหวะที่ โรเบิร์ต มัค กระชากขึ้นทางซ้ายสปีดหนี ฟิลิป โรลเลอร์ ถึงเส้นหลังแล้วตบเข้ากลางให้ ออนเดรจ ดูด้า ดาวเตะจาก แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ในบุนเดสลีกาทิ่มเผาขนไม่เหลือ
ช้างศึก เดินเครื่องลุยหวังทวงประตูคืน ผ่าน 20 นาทีแรก ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ ลองตะบันไกลจากหน้ากรอบเขตโทษ ลูกพุ่งแฉลบออกหลังไป
น.27 ไทยพยายามโต้กลับ จากจังหวะที่ ชนาธิป กระชากขึ้นทางซ้าย ก่อนตวัดบอลหวังให้ ธีรศิลป์ ที่รออยู่ตรงกลาง แต่กลายเป็นอัดหน้า สเคอร์เทล อย่างจัง ทำเอาอดีตกองหลังลิเวอร์พูลร่วงลงไปกอง และตาลอย ต้องเรียกทีมแพทย์เข้ามาปฐมพยาบาล และกลับมาเล่นต่อได้
ถึงครึ่งชั่วโมง เป็นโอกาสที่ใกล้เคียงสุดของไทย เมื่อ ฐิติพันธ์ หลุดเข้าไปกดด้วยขวาในกรอบเขตโทษด้านขวา ลูกเหินข้ามคานไปอย่างน่าหวาดเสียว
ผ่านมาถึง น.34 สโลวาเกีย หนีห่าง 2-0 ในจังหวะสวนกลับ เมื่อ เอริก ปาซินด้า ได้บอลตรงเกือบกลางสนาม ก่อนแทงพรวดเดียวทะลุให้ มัค หลุดเข้าไปจิ้มสวนตัว กวินทร์ เข้าไปเสียบเสาสองเด็ดขาด
น.42 ไทยตีไข่แตกไล่มาได้สำเร็จ 2-1 จากจังหวะผิดพลาดของ มิชาล ซุลล่า นายทวารสโลวาเกีย ออกบอลไปติด ธีรศิลป์ ก่อนที่ "เจ้ามุ้ย" จะตบเข้ากลางให้ จักรพันธ์ แก้วพรม แปเน้นๆ ไม่เหลือซาก จบครึ่งแรก ช้างศึก ตามหลังแค่ประตูเดียว
กลับมาเล่นต่อในครึ่งหลัง มิโลวาน ราเยวัช กุนซือเซิร์บทีมชาติไทย ขยับแก้เกมโดยถอด มงคล ออกแล้วส่ง บดินทร์ ผาลา ลงสนาม และดาวเตะจากการท่าเรือ ก็มีโอกาสสับไกจากนอกกรอบหลังรับบอลจาก ชนาธิป แต่ยิงบด เลยเบาเกินไป
ไทยลุยหนักขึ้น บุกกดดันจนสโลวาเกียต้องถอยไปตั้งรับ น.52 ชนาธิป ส่องเรียดจากหน้ากรอบเขตโทษ ลูกพุ่งติดเซฟของ ซุลล่า ก่อนที่กองหลังจะมาช่วยสกัดพ้นอันตรายหวุดหวิด
ช้างศึกบุกต่อเนื่อง น.55 ธีราทร ลุยขึ้นทางซ้ายก่อนซัดด้วยข้างถนัด บอลแฉลบ สเคอร์เทล แต่ยังติด ซุลล่า ที่ยืนปิดมุมไว้
สโลวาเกีย พยายามตอบโต้ น.64 มัค หลุดเข้าไปแปผ่านมือ กวินทร์ เข้าไปตุงตาข่าย แต่เฮเก้อ เพราะไลน์แมนยกธงล้ำหน้า ขณะที่ ราเยวัช ขยับเปลี่ยนตัวอีกคน ส่ง นูรูล ศรียานเก็ม แทน จักรพันธ์
เข้าสู่ น.67 สโลวาเกีย ได้ประตูหนี 3-1 เมื่อ ปาซินด้า ลากบอลมาทำชิ่งกับ ดูด้า แล้วซัดด้วยซ้ายหน้าหัวกะโหลก ลูกเช็ดสามเหลี่ยมเข้าไปชนิดหมดสิทธิ์ที่ กวินทร์ จะป้องกันได้
ราเยวัช ทิ้งไพ่ใบสุดท้าย ส่ง ปีโป้ สิโรจน์ ฉัตรทอง แทน พีระพัฒน์ โน้ตชัยยา ก่อนแฟนๆ เจ้าถิ่นได้เฮกระหึ่มในน.78 เมื่อ นูรูล เปิดฟรีคิกจากขวาเข้าไปในกรอบเขตโทษเลยไปถึง พรรษา เหมวิบูลย์ ทิ่มเผาขนเข้าไปตุงตาข่ายให้ไทยไล่ 2-3
ช่วงเวลาที่เหลือ แม้ไทยจะพยายามบุก แต่ก็ยิงเพิ่มไม่สำเร็จ จบเกม สโลวาเกีย คว้าชัยชนะ 3-2 ได้แชมป์ คิงส์ คัพ ครั้งที่ 46 ไปครองได้สำเร็จ นับเป็นการคว้าแชมป์หนที่ 2 ของตัวเองในรายการนี้ แถมยังเป็นการตอกย้ำขยี้ “ช้างศึก” เนื่องจาก คิงส์ คัพ ปี 2004 พวกเขาเคยมาเอาโทรฟี่นี้ด้วยการชนะจุดโทษเจ้าถิ่น 5-4 หลังเสมอในเกมปกติ 1-1
ขณะเดียวกัน นับเป็นครั้งที่ 12 ของทีมชาติไทย ซึ่งเข้าชิงชนะเลิศในรายการ คิงส์ คัพ ทว่าไม่สามารถคว้าแชมป์ได้ ต่อจากปี 2513, 2514, 2515, 2517, 2521, 2536, 2540, 2545, 2547, 2552, 2558
* ทำเนียบแชมป์คิงส์ คัพ ทั้ง 46 ครั้ง
* ปีที่จัด ครั้งที่ แชมป์ รองแชมป์ อันดับ 3
2511 1 อินโดนีเซีย พม่า ไทย
2512 2 เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย เวียดนาม
2513 3 เกาหลีใต้ ไทย มาเลเซีย
2514 4 เกาหลีใต้ ไทย เวียดนาม
2515 5 มาเลเซีย ไทย เกาหลีใต้-สิงคโปร์
2516 6 เกาหลีใต้ มาเลเซีย ไทย
2517 7 เกาหลีใต้ ไทย มาเลเซีย
2518 8 เกาหลีใต้ พม่า ไทย
2519 9 ไทย เอ มาเลเซีย เกาหลีใต้
2520 10 เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินเดีย
2521 11 เกาหลีใต้ ไทย เอ มาเลเซีย-สิงคโปร์
2522 12 ไทย เอ เกาหลีใต้ ไทย บี-สิงคโปร์
2523 13 ไทย เอ เกาหลีใต้ ไทยบี-จีน
2524 14 ไทย เอ เกาหลีเหนือ โปแลนด์
2525 15 ไทย เอ เกาหลีใต้ ไทย บี
2527 16 ไทย เอ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย
2529 17 เกาหลีใต้ เดนมาร์ก จีน
2530 18 เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ไทย เอ
2531 19 เดนมาร์ก ออสเตรีย ไทย เอ
2532 20 ไทย เอ รัสเซีย เกาหลีใต้
2533 21 ไทย รัสเซีย เกาหลีใต้
2534 22 จีน รัสเซีย ไทย เอ
2535 23 ไทย เอ เยอรมัน ไทย บี
2536 24 จีน ไทย เอ เกาหลีใต้
2537 25 ไทย บี เยอรมัน รัสเซีย
2538 26 โรทัวร์ ญี่ปุ่น ไทย เอ
2539 27 โรมาเนีย เดนมาร์ก ไทย
2540 28 สวีเดน ไทย ญี่ปุ่น
2541 29 เกาหลีใต้ อียิปต์ เดนมาร์ก
2542 30 บราซิล ยู-20 เกาหลีเหนือ ไทย
2543 31 ไทย ฟินแลนด์ บราซิล
2544 32 สวีเดน จีน ไทย
2545 33 เกาหลีเหนือ ไทย กาตาร์
2546 34 สวีเดน เกาหลีเหนือ ไทย
2547 35 สโลวาเกีย ไทย ฮังการี
2548 36 ลัตเวีย เกาหลีเหนือ ไทย
2549 37 ไทย เวียดนาม คาซัคสถาน
2550 38 ไทย อิรัก เกาหลีเหนือ – อุซเบกิสถาน
2552 39 เดนมาร์ก ไทย เกาหลีเหนือ
2553 40 เดนมาร์ก โปแลนด์ ไทย
2555 41 เกาหลีใต้ ยู-23 เดนมาร์ก นอร์เวย์
2556 42 สวีเดน ฟินแลนด์ ไทย – เกาหลีเหนือ
2558 43 เกาหลีใต้ ยู-22 ไทย อุซเบกิสถาน
2559 44 ไทย จอร์แดน ซีเรีย
2560 45 ไทย เบลารุส ยู 20 บูร์กิน่าฟาโซ
2561 46 สโลวเกีย ไทย กาบอง