การเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่เวลา 06.00 น. ซึ่งมีผู้สื่อข่าวหลายสำนักเดินทางมายัง อินดอร์ สเตเดี้ยม หัวหมาก สถานที่จัดงานในครั้งนี้ ก่อนที่เวลา 09.00 น. เจ้าหน้าที่จาก กกท. ที่เข้ามาช่วยงาน กกต. ได้เริ่มรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง, ผู้เข้าร่วมการประชุม รวมทั้งผู้ลงสมัครนายกสมาคมฟุตบอลฯ ท่ามกลางเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจาก บก.น. รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ 8 สน. มีทั้งหมด 300 กองร้อยทั้งในและนอกเครื่องแบบ ทหาร กองบัญชาการอารักขารวมแล้วกว่า 500 ชีวิต
โดยจุดการรับสมัครครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 จุด นั่นคือ ด้านหน้าของอินดอร์ สเตเดี้ยม หัวหมาก ที่จะให้ผู้มาเฝ้าสังเกตการณ์จากลงทะเบียน อีกส่วนจะอยู่ด้านหลัง ให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้ง 72 สโมสรแยกเข้ามา รวมถึงผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ที่เข้ามาแล้วได้เชิญเข้าไปในห้องรับรอง
อย่างไรก็ตามบริเวณด้านหน้าของอินดอร์ สเตเดี้ยม ที่เป็นจุดของผู้ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงแต่สามรถเข้ามาร่วมประชุมได้นั้น ได้เกิดความวุ่นวายมากมาย เริ่มจากเวลา 09.00 น. เชียงราย ซิตี้ มีปัญหาเรื่องของการแย่งสิทธิ์กัน หลังจาก ว่าที่ร้อยตรีดำรงศักดิ์ ขวัญชัย ประธานสโมสร เชียงราย วอริเออร์ ที่ได้รับหนังสือการทำทีมจากสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ถูกผู้บริหารจาก เชียงราย ซิตี้ อ้างว่าโดนสวมสิทธิ์ทำให้เจ้าหน้าที่จาก กกท. ต้องเข้ามาไกล่เกลี่ยก่อนให้ทั้งคู่เข้ามาในที่ประชุมได้
10.10 น. "หม่อมเป๊บ" พล.ท.ม.ล.สุปรีดี ประวิตร ประธานสโมสรราชประชา แม้ว่าจะไม่ได้ลงคะแนนเลือกตั้งแต่ก็ได้เดินทางมาถึงจุดลงทะเบียนด้านหน้า อินดอร์ สเตเดี้ยม ทว่ากลับถูกเจ้าหน้าที่ของการกีฬาแห่งประเทศไทย ไม่ให้เข้าร่วมการประชุมหลังจากไม่มีเอกสารที่เป็นนิติบุคคล ทั้งๆ ที่จริงเจ้าตัวเป็นข้าราชการจึงให้ภรรยาไปจดทะเบียนแทน และคนในวงการฟุตบอลต่างรู้ดีว่า "หม่อมเป๊บ" เป็นประธานสโมสรราชประชามานานแล้ว ทว่าเจ้าหน้าที่ของการกีฬาแห่งประเทศไทยที่ไม่ได้รู้ฐานเกี่ยวกับลูกหนังไทยกลับเชิญออกอย่างไม่ไยดี ทำให้เจ้าตัวต้องขึ้นรถกลับทันที
10.15 น. น.อ.จีระศักดิ์ เจริญจันทร์ ประธานสโมสรโรงเรียนวัดประทุมชน ที่ส่งทีมลงแข่งขันถ้วย ง มาหลายปี ได้ยื่นเอกสารขอเข้าร่วมในที่ประชุมแต่ไม่สามารถเข้าฟังได้เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ กกท. แจงว่าไม่มีเอกสารเป็นนิติบุคคล ทั้งๆ ที่ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันมาโดยตลอด
10.20 น. รายสุดท้ายเป็นเรื่องการแย่งสิทธิ์เข้าไปในที่ประชุมของ ตาก เอฟซี ซึ่ง "ลุงไว" เจษฎา สายยิ้ม ประธานสโมสรได้แจ้งสิทธิ์ว่าทำทีมมาแล้ว 6 ปี แต่กลับมาถูกผู้บริหารของ ตาก ซิตี้ แย่งไป ทำให้เจ้าหน้าที่ กกท. เข้ามาดูแลเรื่องนี้ก่อนที่จะให้เข้ามานั่งฟังที่ประชุมได้ แม้ว่าจะไม่มีสิทธิ์ออกเสียงก็ตาม
ผู้สมัครมา 5 คนไร้เงา "รองแห้ว"
จากนั้นบรรดาผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ได้เดินทางมาที่ อินดอร์ สเตเดี้ยม กันอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็น "บิ๊กหอย" ธวัชชัย สัจจกุล, พินิจ สะสินิน, ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ขาดแต่เพียง "รองแห้ว" พ.ต.ท.ชัยทรัพย์ ธรัช ฤทธิ์เต็ม ที่ไม่ได้เดินทางมาในครั้งนี้
อย่างไรก็ตามหลังจากที่มีการเริ่มลงคะแนนการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง กับ ดร.ชาญวิทย์ ผลชีวิน ได้เดินทางมาจุดทำการ ซึ่ง "อ.หรั่ง" ได้ไปกล่าวทักทายสมาชิกสโมสร ก่อนที่จะขึ้นไปนั่งยังห้องรับรองที่ กกต. ได้เตรียมไว้ใน อินดอร์ สเตเดี้ยม
เสียงรับมติ 64 จาก 68 ทีม
เวลา 10.41 น. "เสธ.โต" พล.ร.อ.สุรวุฒิ มหารมณ์ ประธานคณะกรรมการกลางการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ได้นำสโมสรสมาชิกโหวตรับรองระเบียบการเลือกตั้ง ซึ่งในการนี้ไม่ครบทั้ง 72 เสียง เนื่องจาก 4 สโมสรอย่าง เอสซีจี เมืองทอง, โอสถสภา เอ็ม-150 สมุทรปราการ, บีอีซี เทโรศาสน และ วิทยาลัยเทคโนโลยีพิชญเกษม (ถ้วย ค) ซึ่งทุกทีมต่างเห็นพ้องว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ขาดความโปร่งใสจึงไม่เดินทางมาร่วมการเลือกตั้ง
โดยการโหวตระเบียบข้อบังคับในการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยครั้งนี้สโมสรสมาชิกโหวตรับรองกฎระเบียบแล้ว 64 จาก 68 เสียง ซึ่งเป็นเอกฉันท์ว่าเกินกึ่งหนึ่งทำให้ช่วงบ่ายวันนี้สามารถเปิดเลือกตั้งได้ตามปกติ
สมยศชนะเลือกตั้งด้วยคะแนน 62
สำหรับการลงคะแนนการเลือกตั้งในครั้งนี้มีทั้งหมด 68 เสียงจาก 72 เสียง โดยมี 4 เสียงที่ไม่ได้เดินทางมาลงคะแนน ประกอบด้วย 1.เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด (ไทยลีก), 2.บีอีซี เทโรศาสน (ไทยลีก), 3.โอสถสภา เอ็ม-150(ไทยลีก) และ 4.วิทยาลัยเทคโนโลยีพิชญเกษม (ถ้วย ค)
โดยผลการลงคะแนนเลือกตั้งตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลฯ ประกอบด้วย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ได้รับเลือกเป็นนายกฯ โดยได้รับคะแนนเสียงทั้งหมด 62 เสียง ส่วน ดร.ชาญวิทย์ ผลชีวิน ได้ 4 คะแนน, ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ได้ 1 คะแนน, ไม่ประสงค์ลงคะแนน 1 คะแนน ส่วนผู้สมัครเลือกตั้งนายกฯ อีก 3 ราย อย่าง ธวัชชัย สัจจกุล, พ.ต.ท.ชัยทรัพย์ ธรัช ฤทธิ์เต็ม และ พินิจ สะสินิน ไม่มีคะแนน
ส่วนผลการเลือกตำแหน่งอุปนายกฯ 5 รายที่ได้คะแนนมากที่สุด ประกอบด้วย วิทยา เลาหกุล 65 คะแนน, พลเอก อดุลยเดช อินทะพงษ์ 64 คะแนน, ศุภสิน ลีลาฤทธิ์ 63 คะแนน, ธนศักดิ์ สุระประเสริฐ 63 คะแนน, ทรงธรรม เพียรพัฒนาวิทย์ 62 คะแนน ขณะที่รายอื่นๆ ในตำแหน่งอุปนายกฯ มีดังนี้ พลเอก จิรศักดิ์ บุตรเนียน 4 คะแนน, กล้าณรงค์ จันทิก 3 คะแนน, ดร.ภิญโญ นิโรจน์ 3 คะแนน, ดร.ธัญญา โพธิ์วิจิตร 3 คะแนน, ดร.องอาจ ก่อสินค้า 3 คะแนน, ธเนศ เครือรัตน์ 1 คะแนน และ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ 1 คะแนน
ขณะที่ผลการเลือกตั้งตำแหน่งสภากรรมการ 13 รายประกอบด้วย น.ส.นันทนี วงศ์อำนิษฐกุล 60 คะแนน, ธนวัชร์ นิติกาญจนา 62 คะแนน, พลเรือเอก นาวิน ธนเนตร 60 คะแนน, สมเกียรติ กิตติธรกุล 62 คะแนน, กรวีร์ ปริศนานันทกุล 62 คะแนน, ชาติชาย เจียมสิริพงศ์ 61 คะแนน, ทรงเกียรติ ลิ้มอรุณรักษ์ 60 คะแนน, ดร.วิชิต คนึงสุขเกษม 60 คะแนน, อนุสรณ์ วงศ์วรรณ 61 คะแนน, สุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล 61 คะแนน, ธวัช อุยสุย 60 คะแนน, ทรงยศ เทียนทอง 60 คะแนน และ ณัฐ ชยุติมันต์ 60 คะแนน
กกต.พร้อมส่งให้ กกท.รอฟีฟ่า, เอเอฟซี รับรอง
หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง "เสธ.โต" พล.ร.อ.สุรวุฒิ มหารมณ์ ประธานคณะกรรมการกลางการเลือกตั้ง ได้บอกว่า "การเลือกตั้งครั้งนี้ผ่านไปด้วยดีไม่มีอะไรติดขัด และจากผลที่ออกมาครั้งนี้ทาง กกต. จะนำผลไปให้กับ เอเอฟซี และ ฟีฟ่า ได้รับรองทั้งนายกสมาคมฯ, อุปนายก และสภากรรมการเป็นลำดับแรก"
"จากนั้นเมื่อ 2 องค์กรใหญ่อย่าง เอเอฟซี และ ฟีฟ่า ทำการรับรองแล้วเราจะนำส่งไปให้กับการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้รับรองผลของการเลือกตั้งต่อไปเพื่อให้ทำหน้าที่แทนสำนักเลขาสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในการแต่งตั้งนายกสมาคมฟุตบอลฯ"