เพราะ "การไม่มีโรค คือ ลาภอันประเสริฐ" ฉะนั้น ทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันร่างกายของเรา ไม่ให้ถูกเชื้อโรคเล่นงานจนป่วยไข้ก็คือ 'วัคซีน' แต่ที่ผ่านมา หลายคนมักเข้าใจว่า การฉีดวัคซีนเป็นเรื่องของเด็กๆ ทว่าปัจจุบัน คงต้องเปลี่ยนความคิดกันใหม่ และผู้ใหญ่อย่างเราๆ รวมทั้งคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ก็ยังต้องฉีดวัคซีนกันอีก
ทำไมผู้ใหญ่และผู้สูงอายุจึงต้องฉีดวัคซีนอีก? ทางราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย นำโดย ศ.นพ.เกรียง ตั้งสง่า ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ศ.นพ.สมิง เก่าเจริญ ประธานคณะกรรมการจัดทำแนวทางการดูแลรักษา และศ.นพ. ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร เลขานุการ คณะอนุกรรมการร่างคำแนะนำการให้วัคซีนในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ร่วมกันไขข้อสงสัย โดยชี้ให้เห็นว่า ตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการรณรงค์ให้ฉีควัคซีนในเด็ก ซึ่งได้ผลดีเพราะสามารถลดการติดเชื้อในเด็กได้อย่างชัดเจน จนทำให้โรคหลายโรคเกือบจะถูกลืมเลือนไปว่าป่วยแล้วจะมีอาการเช่นไร
นอกจากนี้ สังคมของเรายังมีแนวโน้มว่าจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น ดังนั้นแต่ละช่วงวัย คนเราควรป้องกันไม่ให้เกิดโรค ย่อมดีกว่ารอให้ป่วยก่อนแล้วจึงรักษา ซึ่งวัคซีนก็คือกุญแจสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกัน ส่วนความเข้าใจเดิมที่ว่า ตอนเด็กถูกฉีดวัคซีนครบคอร์สแล้ว ตอนโตก็ไม่จำเป็น เพราะร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคที่เคยฉีดอยู่แล้ว ต้องแก้ไขความเข้าใจว่า วัคซีนหลายชนิดที่เคยฉีดตอนเด็กนั้น ไม่ได้มีประสิทธิภาพป้องกันโรคตลอดชีวิต โดยภูมิคุ้มกันโรคจากวัคซีนที่ฉีดนั้นจะเสื่อมลงไปตามอายุที่มากขึ้น ดังนั้นวัคซีนหลายตัวควรฉีดซ้ำตอนเป็นผู้ใหญ่
วัคซีนที่ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุควรฉีดนั้น ทางราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ได้ออกคำแนะนำว่า ผู้ใหญ่ช่วงต้น อายุ 18-26 ปี ควรฉีดวัคซีนบาดทะยักและคอตีบ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนหัด-คางทูม- หัดเยอรมัน วัคซีนเอชพีวี และวัคซีนตับอักเสบบี ส่วนผู้ใหญ่ช่วงอายุ 27-65 ปี ควรฉีดวัคซีนบาดทะยักและคอตีบ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนตับอักเสบบี ขณะที่ผู้สูงอายุวัย 65 ปีขึ้นไป ควรฉีดวัคซีนบาดทะยักและคอตีบ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันนิวโมคอคคัส นอกจากนี้ผู้ที่มีโรคเรื้อรั้ง ไม่มีม้ามหัวใจวาย ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไตวายเรื้อรัง ตับวาย ติดเชื้อเอดส์ และกำลังรับยากดภูมิคุ้มกัน ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนตับอักเสบบี และวัคซีนป้องกันนิวโมคอคคัส ทั้งนี้เพื่อความกระจ่าง ความจำเป็นเฉพาะ และรับทราบความถี่ แนะให้ดูภาพตารางประกอบบทความ
สำหรับคำแนะนำข้างต้น จัดทำขึ้นตามความเห็นของคณะอุนกรรมการร่างคำแนะนำอันประกอบไปด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา ซึ่งประเมินแล้วว่าเหมาะสม คุ้มค่า และผลข้างเคียงไม่รุนแรง กล่าวคือ อาจปวดบวมบริเวณที่ฉีดวัคซีนในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น
เพื่อให้ตระหนักถึงความจำเป็นในการฉีดวัคซีน แพทย์ทั้งสามยังเล่าถึงภัยสุขภาพที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายหากป่วยเป็นโรคที่มีวัคซีนป้องกัน แต่กลับไม่ได้รับก่อนสัมผัสโรค อย่าง 'บาดทะยัก' เป็นแบคทีเรียที่ไม่ชอบอากาศ ติดเชื้อบริเวณแผล และสร้างสารพิษ ทำให้มีอาการเกร็งกล้ามเนื้อ ถ้ารุนแรงจะชักแบบหลังแอ่น ผู้ป่วยเสียชีวิตจากการหายล้มเหลว และโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ ส่วน 'โรคคอตีบ' เกิดจากติดเชื้อแบคทีเรียและสารพิษที่สร้างจากแบคทีเรีย เชื้ออาจอยู่ในจมูกและลำคอ โดยไม่มีอาการ และกระจายให้ผู้อื่นได้ ถ้าอาการเฉียบพลัน จะมีไข้ เจ็บคอ มีการอักเสบของเยื่อบุคอ เป็นแผ่นเยื่อหนา ทำให้หายใจลำบาก อาการแทรกซ้อน ได้แก่ ทางเดินหายใจตีบตัน กล้ามหน้าหัวใจอักเสบ และปลายประสาทอักเสบทำให้แขนขาอ่อนแรง
'หัดและหัดเยอรมัน' เป็นเชื้อไวรัส อาการแรกเริ่มมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีอาการทางเดินหายใจผิดปกติ ต่อมามีผื่นแดงโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม สมองอักเสบ การติดเชื้อหัดเยอรมันในคนท้อง ทำให้ทารกในครรภ์พิการ ส่วน 'คางทูม' เกิดจากไวรัส ทำให้เป็นไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีอาการอักเสบของต่อมน้ำลาย ทำให้คอโต โรคแทรกซ้อน คือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อัณฑะอักเสบ รังไข่อักเสบ และอาจทำให้เกิดปัญหาด้านการเจริญพันธ์
'เอชพีวี' เป็นไวรัสที่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นได้ทั้งชายและหญิง ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ การติดเชื้อเรื้อรัง เป็นสาเหตุของโรคหูดบริเวณอวัยวะเพศ เป็นปัจจัยเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งอื่นๆ ของระบบสืบพันธ์ ควรฉีดก่อนมีเพศสัมพันธ์ ขณะที่ 'ไวรัสตับอักเสบบี' ติดต่อจากเสมหะ และสารคัดหลั่ง อาการเฉียบพลัน ได้แก่ ตัวเหลือง ตาเหลือง ถ้าเรื้อรังรุนแรง ทำให้เกิดโรคตับแข็ง เสี่ยงมะเร็งตับ
'ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล' จัดเป็นเชื้อไวรัส มีการเปลี่ยนสายพันธ์ทุกปี ติดต่อโดยการไอ จาม และสัมผัสเครื่องใช้ อาการสำคัญคือ ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อาการแทรกซ้อนมักทำให้เป็นปอดอักเสบจนเสียชีวิต และสุดท้าย 'โรคที่เกิดจากนิวโมคอคคัส' เป็นแบคทีเรีย ถ้าติดเชื้อแบบไม่รุกราน จะทำให้ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ปอดบวม แต่หากติดแบบรุกราน จะติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีอัตราการตายสูง
ถ้าคิดว่า กันไว้ดีกว่าแก้ ไปฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคกันเถอะ.